สถานที่ท่องเที่ยว
วัดพระสามองค์ หรือ วัดเทพาไพโรจน์
คะแนนโหวต 4.50/5 คะแนน จากผู้โหวต 2 ท่าน
"พระพุทธรูปสามองค์" หรือ "หลวงพ่อพระสามองค์" สร้างด้วยศิลาทรายแดง นั่งเรียงกันสามองค์ภายในศาลา ชาวบ้านจึงเรียกสั้น ๆ ว่า "พระสามองค์" ตั้งอยู่ในวัดเทพาไพโรจน์ แต่เดิมชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระสามองค์" คนในชุมชนเล่าว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสหัวเมืองเทพาในครั้งโน้นและได้เสด็จขึ้นฝั่งมาที่ท่าวัดพระสามองค์ และพระองค์ก็พระราชทานนามให้ว่า "วัดเทพาไพโรจน์" ตั้งแต่วันเป็นต้นมาตามตำนานเล่าต่อ ๆ กันว่า..ครั้งหนึ่งมี "นายอ่อน" ข้าหลวงที่ปกครองเมืองเทพา ได้สร้างศาลาเป็นที่พักไว้บริเวณหน้าเมือง ศาลาแห่งนี้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อว่า "พระนวล" ท่านได้นำอาหารเหลือจากการฉัน มาปั้นเป็นพระพุทธรูป แล้วห่อด้วยดินเหนียวเป็นพระพุทธรูป เรียกว่า "พระจังหัน" (จังหัน แปลว่า ข้าวและอาหาร) ท่านยังได้นำเกสรดอกไม้แห้งที่บูชาพระมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง เรียกว่า "พระเกษร" (เกษร แปลว่า ดอกไม้) และสุดท้ายท่านได้นำขี้เถ้าไม้แก่นจันทร์หอม ปั้นเป็นพระพุทธรูปองค์สุดท้าย เรียกว่า "พระแก่นจันทร์" พระนวลตั้งใจให้พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้แทนพระรัตนตรัย โดยให้ประดิษฐานอยู่บนศาลา มีการทำพิธีปลุกเสกเป็นที่สักการะของชาวเมืองเทพา จนกลายเป็นพระคู่เมืองในที่สุด ต่อมาเมืองเทพาเกิดน้ำท่วมสูงราว 15 เมตร น้ำไหลแรงมาก ทำให้เมืองเทพาพังทลาย ชาวเมืองเทพาล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก "นายอ่อน" ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ศาลาหน้าเมืองถูกทำลายย่อยยับ แต่ที่น่าอัศจรรย์ คือ พระพุทธรูปทั้งสามองค์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เลย พระพุทธรูปทั้งสามองค์ยังคงอยู่ภายในซากของศาลา ชาวเทพาอพยพออกจากเมือง ทำให้เมืองเทพากลายเป็นเมืองร้าง และพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ ราวปี พ.ศ.2474 ชาวไทยมุสลิมได้มาตั้งรกรากใกล้ พระพุทธรูปสามองค์ แต่ต้องย้ายออกไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นชาวไทยพุทธกลุ่มหนึ่งมาช่วยกันสร้างและซ่อมแซมศาลาขึ้นใหม่ และมีพระสงฆ์ได้มาจำพรรษา แต่ไม่นานก็ต้องออกไป กลายเป็นวัดร้างเช่นเดิม ในปี พ.ศ.2495 มีคนจีนมาบนบานพระพุทธรูปสามองค์และได้สมปราถนา จึงสร้างศาลาแห่งนี้ขึ้นใหม่ด้วยไม้หลุมพอ มุงด้วยสังกะสี และต่อมาอีกราว 10 ปี เกิดพายุครั้งใหญ่ ทำให้ศาลาพังลงมาทำลายพระพุทธรูปทั้งสามแตกละเอียด และในปี พ.ศ.2505 ชาวบ้านและนักปรองเมืองเทพา ร่วมกันสร้างบูรณะพระทั้งสามองค์ขึ้นใหม่ โดยนำเศษผงพระเดิมที่แตกละเอียด มาบรรจุไว้ในพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ พระพุทธรูปองค์ใหม่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการทาด้วยสีโมเสส มองดูเหมือนพระเนื้อสามกษัตริย์ พร้อมทั้งสร้างศาลาขึ้นใหม่ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสาม กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชาวเทพาจวบจนทุกวันนี้ ในเดือนเมษายนของทุกปี ประชาชนชาวอำเภอเทพาและอำเภอใกล้เคียง จะมาร่วมกันสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าให้พระสามองค์เป็นประจำ จนกลายเป็นประเพณี เรียกว่า ประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 เมษายน ของทุกปี
แสดงความคิดเห็น